กลับวัด-ห่มจีวร! ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง พระพรหมดิลก กับเลขาเจ้าคณะ

ข่าวล่าสุด

(24 ก.ย. 2563) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 ก.ย. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อท.196/2561 คดีฟอกเงินทุจริตจัดสรรงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ของวัดสามพระยาวรวิหาร พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเอื้อน กลิ่นสาลี อดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยาวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กับนายสมทรง อรรถกฤษณ์ อดีตพระอรรถกิจโสภณ และเลขาเจ้าคณะกรุงเทพฯ เป็นจำเลยที่ 1-2

ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานฯ ร่วมกันฟอกเงินอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กรณีร่วมกันฟอกเงินจากการทุจริตจัดสรรเงินงบประมาณ พ.ศ.ปี 2557 ให้วัดสามพระยาฯจำนวน 5 ล้านบาท ในงบส่วนอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งที่ไม่มีโรงเรียน เจ้าอาวาสวัด สามพระยาฯนำงบที่ได้มาไปใช้ก่อสร้างอาคารร่มธรรมแทน ทั้งที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินนั้นมาตั้งแต่แรก อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2561

ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2562 ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดต่างกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายมาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฟอกเงิน 2 กระทง กระทงละ 2 ปี ให้จำคุกนายเอื้อน หรืออดีตพระพรหมดิลก รวมจำคุก 6 ปี และนายสมทรง หรืออดีตพระอรรถกิจโสภณ จำเลยที่ 2 จำคุก 2 กระทง กระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี วันนี้จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับการประกันตัว สวมชุดขาวเดินทางมาศาล พร้อมกลุ่มพระสงฆ์และกลุ่มฆราวาสเดินทางมาร่วมติดตามฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจจำเลย

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เรื่องการขออนุมัติงบศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น หาใช่เฉพาะวัดที่มีโรงเรียนศึกษาพระปริยัติธรรม แต่วัดสามพระยาฯมีโรงเรียนสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลย่อมมีสิทธิ์ในการใช้งบดังกล่าว จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวกับสำนักงาน พศ. ไม่มีหลักฐานว่าจำเลย

ทราบว่าเงินเกี่ยวกับการกระทำความผิดในหนังสือระบุได้รับเงินเกี่ยวกับการบูรณปฏิสังขรณ์ แสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าเป็นงบบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อได้รับงบ 5 ล้านบาทตามเช็คแล้ว จำเลยมอบอำนาจให้ถอนเงินจ่ายค่าก่อสร้างอาคารร่มธรรม วัดมีการก่อสร้างอาคารและโอนเงินชำระหนี้จริง จำเลยจ่ายเงินให้ผู้ดูแลการก่อสร้าง เชื่อได้ว่าจำเลยฐานะผู้ดูแลวัดนำเงินไปทำนุบำรุงวัด

แม้วัดสามพระยาฯไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม และไม่ได้นำเงินไปใช้โดยตรง ก็ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นการกระทำความผิดมูลฐานฟอกเงิน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ พิพากษาแก้เป็นยกฟ้อง

หลังพิพากษาแล้ว นายสมทรง หรืออดีตพระอรรถกิจโสภณ จำเลยที่ 2 ถึงกับยกมือไหว้และร่ำไห้ด้วยความดีใจ รวมถึงพระสงฆ์และกลุ่มฆราวาสที่เดินทางมาให้กำลังใจร่วมแสดงความยินดีด้วย

ภายหลังเดินทางกลับมาถึงวัดสามพระยาวรวิหารแล้ว ทั้งอดีตพระพรหมดิลก และอดีตพระอรรถกิจโสภณ กลับมาห่มจีวร พร้อมทั้งเข้าทำพิธีในพระอุโบสถเบื้องหน้าพระประธาน โดยมีคณะสงฆ์วัดสามพระยาฯเข้าร่วมพิธี จากนั้นนายอรรณพ บุญสว่าง ทนายความ อ่านคำพิพากษาแจ้งต่อคณะสงฆ์วัดสามพระยาฯว่า ศาลยกฟ้องอดีตพระพรหมดิลกและอดีตพระอรรถกิจโสภณแล้ว จากนั้นคณะสงฆ์วัดสามพระยาไม่มีผู้ใดเห็นค้าน พร้อมทั้งกล่าวสาธุ และเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับอดีตพระพรหมดิลกและอดีตพระอรรถกิจโสภณ

นายอรรณพเผยว่า การดำเนินคดีกับอดีตพระพรหมดิลกและอดีตพระอรรถกิจโสภณ ไม่มีความเป็นธรรมมาตั้งแต่ต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ออกหมายเรียก แต่นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาจับกุมตัวเลย ส่วนขั้นตอนตามพระธรรมวินัยยังไม่ได้ดำเนินการ เพราะอดีตพระพรหมดิลกเป็นถึงกรรมการมหาเถรสมาคม ตามขั้นตอนต้องกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช และตั้งคณะวินัยธรขึ้นมาสอบสวนก่อน หากพบว่ามีความผิดจึงดำเนินการกล่าวโทษทางอาญา จึงกล่าวได้ว่า การดำเนินคดีดังกล่าวอดีตพระพรหมดิลกและอดีตพระอรรถกิจโสภณ ไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งทางพระธรรมวินัยและทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึงการฟ้องกลับ

ด้านนายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะโฆษก พศ. กล่าวถึงกรณีที่อดีตพระพรหมดิลกและอดีตพระอรรถกิจโสภณไม่ได้เปล่งวาจาสึกและกลับไปห่มจีวรว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องพระธรรมวินัย ต้องเป็นการพิจารณาของเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เคยมีมติรับทราบ เรื่องการพ้นจากความเป็นพระภิกษุ กรณีต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา จากกรณีพระภิกษุถูกจับกุม กรณีต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา พศ.นำกฎหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 29 30 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาชี้แจงทำความเข้าใจ ดังนี้

“1.พระสงฆ์รูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายใน 3 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด 2.พระภิกษุรูปใดถูกจับ ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไปควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ 3.เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขับพระรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น กรณีจำเลยยอมสึก ถอดจีวรออก เพราะถูกจับความผิดอาญา และพนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัว ต่อมาได้รับการประกันตัว กลับมาแต่งกายเป็นพระภิกษุอีก โดยมิได้อุปสมบทใหม่ จะมีความผิดฐานแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นพระภิกษุสามเณรโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น” โฆษก พศ.กล่าว

นายสิปป์บวรกล่าวด้วยว่า ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 208 พระภิกษุที่สละสมณเพศกรณีกระทำความผิดทางอาญา และศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1.ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และรับโทษตามคำพิพากษาแล้ว เมื่อพ้นโทษออกมาสามารถเข้ามาบวชได้ 2.ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดและรอลงอาญา เมื่อพ้นจากระยะเวลาการรอลงอาญา สามารถเข้ามาบวชได้ เว้นแต่ 3.ผู้ที่พ้นจากความเป็นพระภิกษุเพราะต้องปาราชิกมาแล้ว ไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 หรือไม่ ก็ตาม จะบรรพชาอุปสมบทอีกไม่ได้ และถ้าหากมารับบรรพชาอุปสมบทใหม่โดยกล่าวเท็จ หรือปิดบังความจริงต่อพระอุปัชฌาย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี